“ลูกหมูช่วงหลังหย่านม” จุดวิกฤติที่ต้องจัดการให้ดี
หลังจากลูกหมูหย่านมถือเป็นช่วงวิกฤติที่มักเกิดปัญหาขึ้น จนนำไปสู่ความสูญเสียได้มากหรือน้อย ขึ้นกับการรับมือและจัดการที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง ที่มากระทบกับตัวลูกหมู ได้แก่
- เปลี่ยนแปลงเรื่องการกิน จากที่เคยกินนมแม่ก็เปลี่ยนเป็นกินอาหาร
- เปลี่ยนสภาพการเป็นอยู่ จากที่เคยอยู่กับแม่ ได้รับความอบอุ่นจากแม่ แต่พอลงมาที่เล้าอนุบาลต้องมาเจอพื้นแข็งๆเย็นๆ ที่อาจจะไม่มีแผ่นรองนอนไม่มีไฟกกเพื่อเพิ่มความอบอุ่นในบางฟาร์ม
- เปลี่ยนสังคมจากการที่เคยอยู่แต่กับเฉพาะพี่น้องคอกเดียวกัน แต่กับต้องมาอยู่กับตัวอื่นที่มาจากคอกอื่น
- เปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย มีการเจริญเติบโตรวดเร็วขึ้น และระบบต่างๆ มีการพัฒนาสมบูรณ์มากขึ้นโดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน
เมื่อเราทราบและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จึงนำมาสู่หลักการเลี้ยงและการจัดการที่จะทำให้ลูกหมูผ่านพ้นช่วงช่วงวิกฤติหลังหย่านมไปได้อย่างดี เกิดปัญหาหรือความสูญเสียได้น้อย
เป้าหมายสำคัญของ “การจัดการในช่วงหลังหย่านม หรือ ลงเลี้ยงอนุบาล 7 วันแรก” คือ ลูกสุกรต้องไม่ป่วย ไม่โทรม ไม่ทรุด การกินได้ไม่มีสะดุด ไม่มีการชะงักการโต ไม่มีลำไส้อักเสบท้องเสีย โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การกระตุ้นการกินได้ของลูกหมู ให้สามารถกินได้พอเพียงต่อความต้องการ ซึ่งก็คือ การกินได้ตามเป้าการกินที่กำหนดไว้ ในหลายๆฟาร์มมักจะพบปัญหาลูกหมูลงเลี้ยงแล้วกินอาหารได้น้อย ต่ำกว่าเป้าการกิน ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อสุขภาพ เนื่องจากพลังงานไม่เพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันและต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้ามา ทำให้ลูกหมูป่วยและสูญเสียในช่วงนี้ และในส่วนของการเจริญเติบโต ลูกหมูจะเกิดภาวะ Setback คือ ชะงักการโต หรืออาจจะมีบางส่วนสูญเสียน้ำหนัก ผอมลงไปได้ด้วย
สำหรับการจัดการสำคัญในช่วงวิกฤติหลังลงใหม่ 7 วันแรกนั้น ขอยกประเด็นสำคัญที่อยากใหทุกฟาร์มมีความใส่ใจเพิ่มขึ้น เพื่อหวังว่าจะป้องกันปัญหารุนแรงหรือความเสียหายที่จะตามมาหลังจากนี้ได้ คือ
- การจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้เหมาะสมกับลูกหมู โดยเน้นให้ลูกหมูอยู่สบาย มีการระบายอากาศที่ดี เพื่อกระตุ้นให้ลูกหมูลุกกินอาหาร แต่ต้องระมัดระวังในช่วงกลางคืนที่อากาศเย็น อาจมีการเพิ่มแผ่นรองนอนหรือไฟกก เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับลูกหมูได้
- การเสริมน้ำและวิตามินละลายน้ำ สำหรับช่วงแรกของการลงเลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1-2 วันแรก เนื่องจากลูกหมูที่หย่านม จะเกิดภาวะแห้งน้ำได้มาก ประกอบกับการเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ อาจทำให้ลูกหมูยังไม่คุ้นเคยกับจุดกินน้ำ การเสริมน้ำเพิ่มเติมให้เพียงพอ และกระตุ้นการกินน้ำด้วยการเสริมวิตามินละลายน้ำ จะลดภาวะแห้งน้ำ ทำให้ลูกหมูเกิดปัญหาน้อยลง
- การกระตุ้นการกินอาหารของลูกหมู โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะเพิ่มการกินได้ เช่น
- เน้นความถี่ในการให้อาหารและปลุกให้กิน ลูกหมูมีกระเพาะขนาดเล็ก ทำให้ต้องแบ่งกินอาหารหลายมื้อ เพิ่มเพิ่มการกินให้ได้มากขึ้น แนะนำให้มีการให้อาหาร ไม่น้อยกว่า 4-6 มื้อในช่วงแรก ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละฟาร์ม
- ปรับลักษณะอาหารเพื่อเพิ่มความน่ากิน เช่น การทำอาหารโจ๊ก อาหารแห้งใส่น้ำ หรือ การเพิ่มสารเสริมที่ช่วยกระตุ้นการกินอาหารให้ได้มากขึ้น
ทีมวิชาการ iTAC