
โรคปากเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease หรือ FMD) เป็นโรคระบาดในสัตว์กีบคู่ (เช่น สุกร โค กระบือ แพะ แกะ เป็นต้น) ที่ร้ายแรง ติดต่อได้ง่าย และแพร่กระจายในอากาศได้ระยะทางหลายกิโลเมตร โดยสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสสกุล Aphtovirus ในวงศ์ Picornaviridae โดยในปัจจุบัน serotype ที่เคยพบระบาดในประเทศไทย ได้แก่ serotype A, serotype O และ serotype Asia – 1 (Chaisrisongkram, 1993 อ้างโดย เทิดศักดิ์ ญาโน และคณะ 2556)
เมื่อสุกรได้รับเชื้อ Foot and Mouth Disease Virus (FMDV) ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง จะพบเม็ดตุ่มใสบริเวณลิ้นหรืออุ้งเท้า หลังจากนั้น 2 – 3 วัน เม็ดตุ่มจะเริ่มแตกออก และเกิดการลอกหลุดของเยื่อเมือก ภายใน 4 – 5 วัน และรอยแผลจะเริ่มจางหายเมื่อผ่านไป 7 วัน
สุกรสามารถติดเชื้อ FMDV จากทางบาดแผล การหายใจนำเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศ หรือ จากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน การป้องกันและการควบคุมโรคที่ดีที่สุด คือ ทำลายสัตว์ป่วยทิ้งทันที ควบคุมการเคลื่อนย้าย ควบคุมการเข้า – ออกฟาร์มของบุคลากรอย่างเคร่งครัด และเพิ่มการเฝ้าระวังโรค(วิไล สินจงสุบงกช)
ผู้เลี้ยงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันของโรค FMD ให้กับสุกรได้โดยการทำวัคซีน โดยชนิดของวัคซีนต้องตรงกับสายพันธุ์ของไวรัสที่มีการระบาดในพื้นที่นั้นๆ
(ที่มาของรูป: Clinical variation in foot and mouth disease: Pigs – Soren Alexandersen)