Open/Close Menu ผู้นำทางด้าน แอนิมัล เฮลท์

ความลับของตัวเลขแรกคลอดที่คุณอาจยังไม่รู้…???

การปฏิบัติงานในเล้าคลอด มีตัวเลขที่ต้องทำความเข้าใจหลักๆ อยู่ 3 ส่วน คือตัวเลขแรกคลอด ตัวเลขการสูญเสียของลูกสุกรระหว่างการเลี้ยง และตัวเลขหย่านม ตัวเลขทั้งหมดจะถูกจดบันทึกตามแบบฟอร์มที่ทางฟาร์มได้จัดทำขึ้น และป้อนข้อมูลไปในโปรแกรมการเลี้ยง เพื่อดูประสิทธิภาพการผลิตในเล้าคลอด  หลักๆเป้าหมายเพื่อให้รู้ สถานภาพการผลิตอยู่ในระดับใด ปัญหาคืออะไร เพื่อจะได้วางแผนในการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดต่อไป

ตัวเลขแรกคลอด แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการคลอด เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว กรอบระยะเวลาในการบันทึกเป็นแบบรายวัน ค่อยๆ สะสมเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน และเป็นปี เรียกกันโดยทั่วไปว่า “รายงานคลอด” แต่ละฟาร์มจะมีรายละเอียดปลีกย่อยในการเก็บข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์แตกต่างกันมากน้อยตามรูปแบบการผลิต เช่นฟาร์มระดับ GGP, GP จะมีรายละเอียดหรือมิติในการเก็บข้อมูลมากกว่าฟาร์มที่ผลิตสุกรขุน การจดบันทึกตามแบบฟอร์มรายงานคลอดมีรายละเอียดหัวข้อหลักๆ ที่ต้องจดบันทึกดังต่อไปนี้

  • วันคลอด คือวันที่ ที่มีการคลอดเกิดขึ้น
  • ข้อมูลเกี่ยวกับแม่สุกร เบอร์หู สายพันธุ์ ลำดับท้อง ค่าคะแนนร่างกาย (BCS) ชุดผสม
  • ข้อมูลเกี่ยวกับพ่อสุกร เบอร์หู สายพันธุ์
  • ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาในการคลอด กลางวัน หรือ กลางคืน
  • ข้อมูลเกี่ยวกับลูกสุกรแรกคลอด สายพันธุ์ของลูกสุกร จำนวนลูกสุกรคลอดทั้งหมด จำนวนลูกสุกรตายคลอด จำนวนลูกสุกรที่เป็นมัมมี่ จำนวนลูกสุกรพิการ และจำนวนลูกสุกรเกิดมีชีวิต จำนวนเพศผู้ เมีย และน้ำหนักแรกคลอด

รายงานคลอดนี้มีบทบาทหน้าที่สำคัญ ทั้งในมุมของสต๊อกทางบัญชี เพื่อให้สามารถทวนสอบข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และในมุมการจัดการ เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของสายพันธุ์สุกร โดยเฉพาะเรื่องของความดก และยังช่วยบ่งชี้ประสิทธิภาพการจัดการเล้าคลอดผ่านหัวข้อจำนวนสุกรตายแรกคลอด ย้อนดูสุขภาพของแม่สุกรและการจัดการระหว่างอุ้มท้องผ่านหัวข้อลูกสุกรที่เป็นมัมมี่และหัวข้อน้ำหนักของลูกสุกรมีชีวิต

ทั้งนี้นอกจากข้อมูลพื้นฐานแล้วนั้น การเพิ่มหัวข้อในการบันทึกและทำการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรมพื้นฐาน สามารถช่วยให้มองมิติในการทำงานต่างๆได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ดูคุณภาพการปฏิบัติงาน การคลอดระหว่างกลางวันและกลางคืน หรือเปรียบเทียบจำนวนลูกเกิดมีชีวิตระหว่างสายพันธุ์หรือลำดับท้อง เทียบน้ำหนักลูกเกิดมีชีวิตในแม่สุกรที่มีคะแนนร่างกายที่แตกต่างกัน

การใช้ประโยชน์จากข้อมูลรายงานการคลอดจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและสามารถแก้ไขได้ตรงจุด เช่นสถานการณ์ % สุกรตายแรกคลอดกลางคืนมากกว่ากลางวัน เราจะสามารถแก้ไขปัญหาด้วยการเข้าไปตรวจสอบการคลอดช่วงกลางคืน หรือใช้ฮอร์โมนให้สุกรคลอดในช่วงกลางวันมากขึ้น

สุดท้ายนี้หากมีการใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบจะช่วยพัฒนาทักษะในการเก็บและใช้ข้อมูลในการวางแผนแก้ไขปัญหาของพนักงานให้ดีขึ้นและสามารถพัฒนาไปยังหน่วยการผลิตอื่นได้ สิ่งที่ฟาร์มได้คือ ประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น ในบทความนี้ได้แนบรูปที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยเพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น หากมีความสนใจในรูปแบบการจดบันทึกหรือช่วยแนะนำสามารถติดต่อสอบถามเข้ามาในเพจได้ ยังคงค้างอีก 2 หัวข้อ จะทยอยเขียนในลำดับต่อไปครับ รายงานจากฟาร์มสุกรแห่งหนึ่ง

โดยทีมวิชาการ iTAC

 

#แม่สุกร #พ่อสุกร #สุกรแรกคลอด #ลูกสุกร #iTACTeam #ทีมวิชาการไอแทค

Write a comment:

*

Your email address will not be published.


The reCAPTCHA verification period has expired. Please reload the page.

For customer        02-937-4888