Open/Close Menu ผู้นำทางด้าน แอนิมัล เฮลท์

เข้าใจ “สายสัมพันธ์แม่-ลูก” ผ่านพฤติกรรมแม่สุกรเรียกลูกกินนม การสื่อสารสำคัญที่ทำให้การจัดการเล้าคลอดประสบความสำเร็จ

ปัจจัยของการกินน้ำนมได้มากน้อยในลูกสุกร เป็นตัวสำคัญที่สุดในการกำหนดอัตราการรอดชีวิตและคุณภาพการเจริญเติบโต รวมถึงเป็นตัวตั้งต้นสุขภาพของลูกสุกร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นผลจากพฤติกรรมการสื่อสารระหว่างแม่สุกรและลูกสุกร โดยการเสียงร้องและแรงกระตุ้นที่เต้านมของลูกสุกรมีกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมน Oxytocin และ Prolactin ของแม่สุกร เป็นผลให้เกิดการสร้างและหลั่งน้ำนมออกมา ในขณะเดียวกันหากแม่มีการสร้างน้ำนมออกมากักเก็บไว้ที่เต้านมแล้ว แม่จะส่งเสียงเรียกลูกให้เข้ามากินนมด้วยเช่นกัน จึงเป็นวงจรพฤติกรรมที่มีผลกระตุ้นซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

เมื่ออยู่ในเล้าคลอด เราก็มักจะได้เห็นสัญญาณเสียงของทั้งแม่และลูกสุกรอยู่บ่อยๆ โดยพฤติกรรมสำคัญที่แสดงออกมา ขอสรุปให้เข้าใจดังนี้

  1. ลูกหมูดูดนมครั้งแรก
    • ลูกสุกรแรกคลอดจะมีสัญชาตญาณในการค้นหาเต้านม เพื่อให้กินนมน้ำเหลืองได้เร็วที่สุดและได้เยอะที่สุด เพื่อให้มีพลังงานตั้งต้นในการรอดชีวิตช่วงแรกคลอด
    • ลูกสุกรจะค้นหาเต้านมผ่านวิธีการใช้จมูกสัมผัสไปตามสิ่งกีดขวางต่างๆ เช่น ผนังคอก ตัวแม่ เพื่อจะเดินไปถึงเต้านม โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีหลังคลอด
    • เมื่อมีลูกคลอดเพิ่มขึ้น จะเกิดพฤติกรรมการต่อสู้เพื่อแย่งชิงเต้านมร่วมด้วย ดังนั้นลูกสุกรที่คลอดออกมาตัวหลังๆ จะมีโอกาสได้รับนมน้ำเหลืองไม่เพียงพอได้และมีความเสี่ยงที่จะตายได้มาก
  2. แม่ให้นมเป็นรอบๆ และลูกทุกตัวเข้ากินพร้อมกัน
    • ในช่วงวันแรกหลังคลอด แม่สุกรจะเป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการเลี้ยงลูก โดยแม่สุกรจะส่งเสียงร้องเรียกและนอนตะแคงในท่าที่ลูกสุกรสามารถเข้าถึงหัวนมได้สะดวก เนื่องด้วยช่วงแรกแม่จะมีการผลิตน้ำนมออกมาไว้ และตัวลูกหมูเองยังไม่แข็งแรงพอที่จะกระตุ้นเต้านมของแม่ได้ จึงมักเป็นฝั่งแม่ที่เริ่มต้นเรียกลูกกินนมก่อน
    • หลังจากนั้นกระบวนการเลี้ยงลูกอาจเกิดจากตัวแม่สุกรเองเป็นผู้เริ่มต้นเรียกลูกกินนม จากการมองเห็นลูก การได้ยินเสียงลูก และการสัมผัสกับตัวลูก ทำให้เต้านมแม่สุกรมีการคัดน้ำนม หรือลูกสุกรเมื่อเริ่มหิวจะส่งเสียงร้องหิวนมและไปดุนเต้านมแม่ ทำให้เกิดการหลั่งน้ำนมได้
    • เมื่อมีคอกที่เริ่มส่งเสียงกินนม จะเกิดการเหนี่ยวนำไปยังคอกใกล้ๆ ให้เกิดพฤติกรรมเหมือนกัน คือการให้กินนม
  3. ความถี่ของการให้นมเลี้ยงลูก
    • จำนวนครั้งในการให้นมขึ้นอยู่กับขนาดตัวของลูกหมูที่จะดูดนมออกจากเต้าได้มากน้อยเพียงใด และทำให้เกิดการสร้างนมรอบใหม่ขึ้นมาทดแทน และยังขึ้นกับความสามารถในการสร้างน้ำนมของแม่อีกด้วย
    • เมื่ออายุลูกหมูเพิ่มขึ้น จะมีการให้นมบ่อยครั้งขึ้น โดยจากข้อมูลศึกษาพฤติกรรมการให้นมพบว่า แม่ที่เลี้ยงลูกอายุ 2 วัน จะให้นมลูกมากถึง 17 ครั้ง/วัน และเมื่ออายุ 10 วัน จำนวนครั้งจะเพิ่มได้มากถึง 35 ครั้ง/วันเลยทีเดียว
  4. สัญญาณเสียงของแม่สุกร (Sow nursing Vocalization)
    • การเข้าหาเต้านมขึ้นกับเสียงร้องของแม่และเสียงร้องของลูกดังที่กล่าวข้างต้น
    • เสียงแม่สุกรตัวอื่นสามารถกระตุ้นให้แม่สุกรเรียกลูกของตัวเองกินนมได้เช่นกัน
    • แม่สุกรไม่ได้จำเสียงลูกตนเอง แต่จำจากรูปแบบของเสียงลูกสุกร และเสียงร้องของลูกที่เป็นเสียงแหลมมีผลทำให้แม่หยุดกระบวนการให้นมได้ เนื่องจากเสียงบ่งบอกถึงอันตรายของลูก
    • การส่งเสียงร้องเรียกลูกกินนมเป็นหนึ่งในการแสดงถึงความสามารถในการเป็นแม่ ยิ่งถ้าเรียกลูกกินนมบ่อยเท่าไหร่ บ่งบอกว่าแม่มีปริมาณน้ำนมมาก สุขภาพเข็งแรง จะเป็นผลทำให้ลูกได้กินนมมาก เจริญเติบโตเร็ว และแข็งแรงตามไปด้วย

เมื่อได้เข้าใจพฤติกรรมของทั้งแม่และลูกสุกรมากขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญคือการทำให้เกิดกระบวนการให้นมมากที่สุด เพื่อให้ลูกหมูได้รับนมที่มากเพียงพอต่อการรอดชีวิตและเจริญเติบโต ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของฟาร์มแม่พันธุ์เลยทีเดียว

โดย ทีมวิชาการ iTAC

For customer        02-937-4888