Open/Close Menu ผู้นำทางด้าน แอนิมัล เฮลท์

หลักการคัดพันธุ์สุกรเพื่อทดแทนภายในฟาร์ม By ทีมวิชาการไอแทค

การเลือกสุกรทดแทนในฝูงแม่พันธุ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างมากต่อการกำหนดประสิทธิภาพของฟาร์มในอนาคต แต่กลับพบว่าฟาร์มส่วนใหญ่ ละเลยหรือให้ความสำคัญกับจุดนี้ค่อนข้างน้อย อาจเพราะขาดความรู้เกี่ยวกับหลักการคัดเลือกที่ถูกต้องและเหมาะสม หรืออาจเกิดจากไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน จึงไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง บทความนี้จึงขอสรุปหลักเกณฑ์สำคัญในการคัดพันธุ์สุกร เพื่อเป็นแนวทางให้ฟาร์มสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในฟาร์มของตนเอง

ประโยชน์ของการคัดพันธุ์ที่ดี

  1. ฟาร์มได้แม่พันธุ์ทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แท้ สองสาย แม่ระดับ GGP หรือ GP ที่มีลักษณะที่ดี ตรงตามคุณลักษณะของการเป็นแม่พันธุ์
  2. ฟาร์มมีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีจากแม่พันธุ์ที่ดี ให้ลูกดก อายุการใช้งานยาวนาน และไม่พบปัญหาสูญเสียจากพันธุกรรม เช่น ลูกพิการ ไส้เลื่อน รวมถึงถ่ายทอดประสิทธิภาพที่ดีไปยังหมูขุน โตเร็ว อัตราแลกเนื้อต่ำ
  3. ฟาร์มมีต้นทุนที่ต่ำลง จากความคุ้มค่าของการใช้แม่พันธุ์ได้เต็มประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียสิ้นเปลืองจากการคัดทิ้งแม่มีปัญหา แม่ให้ผลผลิตต่ำ หรือหมูสาวตกค้างใช้งานไม่ได้ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนแฝงที่สำคัญของฟาร์ม

หลักการคัดพันธุ์สุกร

เพื่อให้การคัดเลือกสุกรมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดภาระการเลี้ยงสุกรพันธุ์ของฟาร์ม เนื่องจากการเลี้ยงสุกรพันธุ์มีความแตกต่างจากสุกรขุน เพราะต้องการดูแลเอาใจใส่และการจัดการที่พิเศษกว่า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นแม่พันธุ์ ทั้งในส่วนของการทำวัคซีน พื้นที่การเลี้ยง ฟาร์มจึงควรมีการคัดพันธุ์ 2 ครั้ง สุกรตัวที่ไม่ผ่านการคัดเลือก แยกออกเลี้ยงเป็นสุกรขุนได้เลย

  1. การคัดพันธุ์ที่อายุ 10 สัปดาห์ : จะเป็นการคัดเบื้องต้นจากสุขภาพและการเจริญเติบโตที่ดี
  • สุกรต้องมีสุขภาพดี สมบูรณ์แข็งแรง ไม่ป่วย แคระแกรน หรือมีลักษณะผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ไม่มีรูทวาร ไส้เลื่อน
  • น้ำหนักควรมากกว่า 25 กิโลกรัมขึ้นไป
  1. การคัดพันธุ์ที่อายุ 18 สัปดาห์ : คัดเลือกจากลักษณะภายนอกที่ดีและประวัติรายตัว

2.1) คัดจากประวัติ โดยให้เลือกสุกรจากแม่ที่ให้ลูกดก (ลูกมีชีวิต 14 ตัวขึ้นไป) เป็นอันดับแรก และทุกตัวที่ผ่านการคัดพันธุ์ ควรเกิดจากแม่ที่ให้ลูก ไม่น้อยกว่า 12 ตัว

2.2) สุขภาพและน้ำหนักได้ตามเกณฑ์ มากกว่า 70 กิโลกรัมขึ้นไปที่อายุ 18 สัปดาห์ และมีสุขภาพแข็งแรง

2.3) ผิวหนัง ไม่มีลักษณะด่าง หรือมีสีที่ต่างจากมาตรฐานสายพันธุ์ รวมถึงไม่มีรอยโรคผิวหนัง

2.4) ลักษณะโครงสร้างขาหน้าและขาหลัง

– มุมหน้า/หลัง : ขาทั้งสองข้างตรงเสมอกัน แข็งแรงมั่นคง ไม่มีขาข้างใดสั้น/ยาวกว่า ไม่งอเข้าด้านในหรือโค้งออกด้านนอก

– มุมข้าง : ขาต้องยืนอย่างมั่นคง ตรงข้อขาไม่งอไปด้านหน้าหรือด้านหลัง

– ข้อเท้าพาสเทิร์น (Pasterns) : ต้องลาดเอียงพอดี ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป

2.5) กีบ มีลักษณะเป็นกีบคู่ ควรมีขนาดใหญ่และเท่ากัน มีร่องระหว่างกีบที่พอดีไม่มากหรือน้อย จนเกินไป ไม่มีรอยแตก แผลหรือหนองบริเวณกีบ

2.6) เต้านม ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 12 เต้า (ครบคู่ 6 คู่) และสมบูรณ์ครบทั้งหมด สามารถใช้งานได้ทุกเต้า ไม่มีลักษณะหัวนมบอด หัวนมแซม หัวนมกลับ ที่ทำให้ลูกสุกกรดูดนมไม่ได้

2.7) อวัยวะเพศเมีย มีขนาดเหมาะสมไม่เล็กจนเกินไป มีลักษณะเป็นรูปใบโพธิ์ ส่วนปลายไม่งอนขึ้น

 

รูปลักษณะโครงสร้างขาหน้า-ขาหลังที่ปกติและผิดปกติแบบต่างๆ

*A National System for Recording Conformation Traits: March 2001

รูปลักษณะกีบผิดปกติแบบต่างๆ

รูปลักษณะหัวนมบอด ใช้งานไม่ได้

For customer        02-937-4888